วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

วงจรเงินสด ฉบับง่ายฝุดๆๆๆๆๆ




โบราณว่าไว้ว่า....

เงินสดนั้นควรจะอยู่ในมือเราให้นานที่สุด

บริษัทก็เช่นกัน....

เงินควรจะปล่อยออกจากมือช้าๆ แต่รับเงินมาเร็วๆ


มีคนชอบพูดถึง Cash Cycle หรือวงจรเงินสดบ่อยๆ แล้วนักลงทุนก็จะคุยกันว่า "Cash Cycle ที่ดีมันต้องติดลบๆๆๆๆๆ"
แต่พอมามองถึงเรื่องนี้แล้วตามทฤษฎีนี่มันย๊ากยาก มีพูดถึง ICP RCP PCP และอะไรอีกมากมาย แต่ไม่เป็นไรเดี๋ยวจะอธิบายง่ายๆจากภาพด้านบน
ลองจินตนาการนะครับว่า ทุกๆครั้งที่มีการทำธุรกิจ
1. บริษัทจะมีรายรับ
2. บริษัทจะมีรายจ่าย

กรณีแรก : รับมาเร็ว จ่ายไปช้า

รับทันที รับเงินสด หรือรับภายในช่วงเวลาสั้นๆ อันนี้เป็นเรื่องที่ดีมากเพราะบริษัทจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องการเก็บเงินไม่ได้ แถมยังได้เงินไปหมุนทำกิจการต่อได้อีกในระยะเวลาหนึ่งก่อนที่เขาจะนำเงินออกไปเป็นรายจ่าย การที่มีเงินสดอยู่ในมือของบริษัทก็สามารถนำไปหมุนสร้างผลกำไรได้ เช่น การลงทุนระยะสั้นต่างๆ หรือการนำวสภาพคล่องตรงนี้ไปใช้ประโยชน์ชั่วคราว อื่นๆได้ ซึ่งแนวทางนี้ทำให้บริษัทจำนวนมากอยากจะเข้ามาอยู่ในสถานะนี้เพราะจะได้เปรียบในการทำธุรกิจ แต่นั่นก็อยู่ที่อำนาจต่อรองในการทำธุรกิจและลักษณะธรรมชาติของกิจการด้วย

กรณีที่สอง : รับมาช้า จ่ายไปเร็ว

รับช้ามาก โดนลูกค้าขอเครดิตช่น 30 วัน 60 วัน แต่ Supplier นี่บอกว่าถ้าอยากจะค้าขายกับเขาต้องเอาเงินไปชำระเขาก่อน เงินสดจะอยู่กับบริษัทน้อยลงเพราะต้องมีการให้เครดิตไปก่อน ซึ่งมันไม่ได้ปประโยชน์อะไรกลับมานอกจากรอเงินสดชำระ ในขณะที่ธุรกิจเองก็ต้องดำเนินต่อไป อาจจะต้องใช้เงินสำรองสั่งผลิตสินค้าไปก่อน ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ถ้าเงินสดไม่พอ ซึ่งจะทำให้บริษัทต้องหาสภาพคล่องเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการขอยืมเงินจากธนาคารมาหมุน การขายทรัพย์สินทิ้ง หรืออาจจะต้องขอเงินเพิ่มทุนจากบรรดาผู้ถือหุ้นมาหมุน ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น หากลูกค้าเบี้ยวชำระเงินก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่

เมื่อเรารู้แล้วว่า วงจรเงินสด Cash Conversion Cycle (CCC) นั้น ถ้าธุรกิจที่มันมีกระแสเงินสดเยอะๆมันจะต้อง รับมาเร็วจ่ายไปช้า
มาดูในทฤษฎีบ้าง..... เขาบอกว่ามันจะมี 3 ตัวแปรคือ
1.  Inventory Conversion Period (ICP) - ช่วงเวลาขายสินค้า
2.  Receivable Conversion Period (RCP) - ช่วงเวลาได้รับเงิน
3.  Payable Conversion Period (PCP) - ช่วงเวลาที่จ่ายเงิน

ง่ายๆก็คือ ช่วงขาย (ICP) + ช่วงรับเงิน (RCP) มันควรจะได้เร็วกว่าช่วงจ่ายเงิน  (PCP)
ถ้าใช้เวลาขาย 2 วัน รับเงินใน 10 วัน และจ่ายหนี้ในอีก 30 วัน แปลว่า วงจรเงินสดเราคือ 2+10-30 = -18 วัน แปลว่ามีเวลาเอาเงินไปหมุน 18 วัน

กรณีที่บริษัทบางบริษัทมีข้อต่อรองเทพๆ มันก็ต้องเป็น "ผลิตแล้วขายได้เลย + รับเงินสดจากลูกค้า - เอาไปจ่ายเจ้าหนี้ชาติหน้า"

พอจะเข้าใจแล้วยังครับว่าทำไมบริษัทต่างๆถึงพยายามดึงเงินให้จ่ายช้าๆ ตราบที่ยังไม่ต้องจ่ายได้ และในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีพวกรายใหญ่มันเลยอยู่รอดได้เพราะมีอำนาจต่อรองกับรายย่อย รายย่อยก็จะขาดเงินเพราะเงินไม่เข้าซักที ขายของไปเป็นชาติแล้ว แบงค์ก็ไม่ปล่อยกู้เพิ่มสภาพคล่องให้ช่วงแย่ๆ แถมยังต้องมีเงินค่าใช้จ่ายกับพนักงานอีก มันเลยมีการปลดพนักงานบ้าง ลดเงินเดือนบ้างและทำอะไรหลายๆอย่างให้บริษัทอยู่รอดได้ และนี่ก็เป็นความสำคัญของเรื่องวงจรเงินสดนะครับ

by TarKawin,Jun 27 , 2014 3:45 AM
writer of Tarkawin  https://aommoney.com




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น