สามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา CLV
วัชรินทร์
ยงศิริ
นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำนำ
ในปัจจุบันมีการกล่าวถึงการรวมกลุ่มขนาดเล็กของประเทศเพื่อนบ้านของไทยโดยเฉพาะในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงกันมากขึ้น
ประกอบกับในระยะ 2-3 ปีมานี้ ไทยเกิดความขัดแย้งทางพรมแดนด้านปราสาทพระวิหารกับกัมพูชา
จึงทำให้กัมพูชาได้รับความเห็นใจจากลาวและเวียดนามมากยิ่งขึ้น ดังนั้น
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้
ในสายตาของประเทศภายนอกจึงดูเหมือนว่าไทยถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงใคร่ขอเสนอบทความนี้เพื่อทำความเข้าใจต่อท่านผู้อ่านที่สนใจติดตามสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ทราบข้อเท็จจริงว่า
กัมพูชา ลาว และเวียดนาม มีจุดประสงค์การรวมตัวในระดับอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงเพื่ออะไร
และไทยยังมีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศนี้ได้หรือไม่
ที่มาและความหมาย
สามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา CLV หรือสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนากัมพูชา-ลาว-เวียดนาม
(Cambodia-Laos-Vietnam Development Triangle Zone) เป็นความร่วมมือของกัมพูชา
ลาว และเวียดนาม เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
มีที่มาจากแนวคิดริเริ่มของสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
เมื่อปี 2542 อันเนื่องมาจาก การเข้าเป็นสมาชิกองค์กรอาเซียนของเวียดนาม (ปี 2538)
ลาว (ปี 2540) และกัมพูชา (ปี 2542) ตามลำดับ
ภายหลังการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมในปี 2532 ในฐานะสมาชิกอาเซียนใหม่
ทั้งสามประเทศนี้มีสถานะทางเศรษฐกิจยังเหลื่อมล้ำด้อยกว่ากลุ่มสมาชิกอาเซียนเก่า
จึงทำให้กัมพูชา ลาว เวียดนาม
ต้องเกาะกลุ่มรวมกันในการปรับตัวเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนและคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เหตุผลที่สามประเทศรวมตัวเป็นกลุ่มย่อย
CLV ในองค์กรระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นเรื่องไม่ยาก
เพราะกัมพูชา ลาว และเวียดนาม มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ร่วมกันมาได้ช่วยให้เกิดความไว้วางใจกันที่จะร่วมมือกันอีกครั้ง
เริ่มจากกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ต่างเป็นอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศสมาด้วยกัน
และร่วมกันก่อตั้งขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนขึ้นมาทำการต่อสู้เพื่อให้ได้
เอกราชจากฝรั่งเศส ต่อมาในยุคสงครามอุดมการณ์
ทั้งสามประเทศปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ได้รวมตัวกันเป็นสหพันธ์อินโดจีน
ซึ่งมีอดีตสหภาพโซเวียตและจีนเป็นผู้นำค่ายโลกสังคมนิยม
ทำสงครามต่อสู้กับค่ายโลกเสรี มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ พื้นที่ของสามประเทศ CLV
จึงกลายเป็นสมรภูมิสงครามตัวแทน (Proxy War)
ระหว่างสหพันธ์อินโดจีนฝ่ายหนึ่งกับอาเซียน (เก่า) อีกฝ่ายหนึ่ง
ต่อมาในปี 2547 ทั้งสามประเทศ CLV ได้เห็นชอบต่อแผนแม่บทในการพัฒนาเศรษฐกิจ
ซึ่งประกอบด้วย การอำนวยความสะดวกด้านการค้า การท่องเที่ยว การรักษาความมั่นคง
พัฒนาสาธารณสุข พัฒนาการศึกษา พัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน พัฒนาพลังงาน
และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ โดยแผนพัฒนาสามเหลี่ยมนี้มีขอบเขตครอบคลุมพื้นที่ 13
จังหวัดชายแดนของสามประเทศ ได้แก่
ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา
มีจังหวัดกระแจ๊ะ จังหวัดสตึงแตรง จังหวัดรัตนคีรี และจังหวัดมณฑลคีรี
ในเขตภาคใต้ของลาว มีแขวงอัตตะปือ
แขวงสาละวัน แขวงเซกอง และแขวงจำปาสัก
ในเขตที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม
มีจังหวัดคนตุม จังหวัดยาลาย จังหวัดดักหลัก จังหวัด
ดักโนง และจังหวัดเดี่ยนเบียน
เหตุผลในการจัดตั้งสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา
เหตุผลด้านเศรษฐกิจ
เบื้องหลังแรงผลักดันที่ก่อตั้งสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา คือ
การยอมรับว่าความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคทำให้สามารถบรรลุผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่และเป็นจริงได้มากกว่าการกระทำโดยลำพังประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงประเทศเดียว ดังนั้น สามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา CLV จะทำให้กัมพูชา
ลาว และเวียดนาม สามารถเอาชนะปัญหาความขาดแคลนด้านแรงงาน ด้านเทคโนโลยี
ด้านทรัพยากร ด้านที่ดิน และด้านสาธารณูปโภคได้
โดยสามารถเข้าถึงต้นทุนการผลิตได้ง่ายขึ้น และสามารถหาได้ภายในอนุภูมิภาค นั่นหมายถึง
สามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนาจะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เพื่อจุดประสงค์พัฒนาพื้นที่ชายขอบของประเทศ CLV ซึ่งจังหวัดเหล่านี้ล้วนอยู่ในเขตแดนที่ด้อยพัฒนาของแต่ละประเทศให้เกิดความเจริญขึ้นมา
เหตุผลด้านการเมือง
สามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกันในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพของอนุภูมิภาคให้เข้มแข็ง
เพราะการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือกันไม่เพียงแต่มีในระดับชาติที่ทั้งสามประเทศ CLV พยายามร่วมมือให้เกิดสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนาเป็นจริงขึ้นมา
แต่ยังทำให้รัฐบาลส่วนท้องถิ่นของแต่ละประเทศ CLV ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นทางการมากขึ้นอีกด้วย
โดยการสร้างความเชื่อมโยงให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันของเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและเศรษฐกิจระดับชาติให้มากขึ้น
ในทางตรงข้ามหากรัฐบาลกลางของประเทศ CLV ไปบีบบังคับให้รัฐบาลส่วนท้องถิ่นกระทำการใดๆ
ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้ง และเกิดผลกระทบตามมาคือเกิดความแตกแยกในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ความร่วมมือจะทำให้เกิดความมั่นคงภายในประเทศของ
CLV เพิ่มมากขึ้น
เพราะเหตุว่าการพัฒนาเศรษฐกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ตามแนวพรมแดนของสามประเทศ CLV
ซึ่งบริเวณชายขอบส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อย
เดิมทีแต่ละประเทศไม่มีแผนยุทธศาสตร์พัฒนาแห่งชาติต่อบริเวณพื้นที่ชายแดน นอกจากนี้บริเวณตะเข็บชายแดนยังไม่มีการลงทุนจากต่างประเทศ
ดังนั้น การร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่สามเหลี่ยมชายแดน CLV จะก่อให้เกิดความมั่งคั่งขึ้นต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ตามบริเวณชายแดน
อันเนื่องมาจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้าชายแดน
เกิดการติดต่อค้าขายกันระหว่างประชาชนในบริเวณสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา
และการลงทุนก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรทางเศรษฐกิจเข้ามาลงทุนในเขตสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนาแห่งนี้
เมื่อประชาชนตามตะเข็บแนวชายแดนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว
จึงส่งผลให้ความมั่นคงและสันติภาพทางการเมืองเกิดตามมา
เหตุผลด้านสังคม สำหรับเหตุผลด้านสังคมของการก่อตั้งสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนามีความต่อเนื่องจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจและการเมือง
คือ การพัฒนาเศรษฐกิจในเขตพื้นที่สามเหลี่ยมจะส่งผลโดยตรงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น
อาทิ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นทั้งด้านการศึกษา
การบริการสาธารณสุข และการคุ้มครองความปลอดภัยในสังคม
โดยเฉพาะสตรีและเด็กที่อาศัยอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา รัฐบาลประเทศ CLV
ได้กำหนดนโยบายสร้างความมั่นใจต่อการปรับปรุงชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
นอกจากนี้รัฐบาลประเทศ CLV ยังส่งเสริมความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ
อาทิ การค้ามนุษย์ข้ามแดน การค้ายาเสพติดข้ามประเทศ และการลักลอบค้าสินค้าเถื่อน
วัตถุประสงค์พัฒนาสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา
มีวัตถุประสงค์พัฒนาเศรษฐกิจด้านต่าง
ๆ ดังนี้
ด้านการเชื่อมโยงเส้นทางถนน
ในสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนาโดยการสร้างถนนในประเทศ CLV
ให้สามารถเชื่อมโยงติดต่อกัน ดังเช่นตัวอย่าง รัฐบาลกัมพูชาสร้างถนนหมายเลข 7
เชื่อมโยงกัมพูชากับลาว จากจังหวัดกระแจ๊ะไปจังหวัดสตึงแตรงถึงชายแดนกัมพูชา-ลาว
ไปเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ของลาวในแขวงจำปาสัก และถนนอีกสายหนึ่งคือ ถนนหมายเลข
78 เชื่อมจากบ้านหลวง-โอยาดา ในจังหวัดมณฑลคีรี ไปจังหวัดยาลายของเวียดนาม
ส่วนในลาวถนนหมายเลข 18B ในแขวงอัตตะปือไปยังเวียดนาม
ถนนสายต่าง ๆ
เหล่านี้จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับบริเวณสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา
เมื่อมีถนนเชื่อมโยงเข้าหากันจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดน การขนส่งสินค้า
และการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างสามประเทศ CLV
ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งสามประเทศสามารถพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณสามเหลี่ยมไปได้อย่างรวดเร็ว
ด้านพลังงาน
มีการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า
จากพลังงานน้ำในแม่น้ำเซซาน (Sesan River) ในกัมพูชา
และจะพัฒนาต่อไปในการเชื่อมโยงสายส่งกระแสไฟฟ้า
และการส่งเสริมการค้าพลังงานไฟฟ้าในสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา
สำหรับการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตการเกษตร และการสำรวจเหมืองแร่ในบริเวณสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา
ด้านการท่องเที่ยวและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
เนื่องจากบริเวณสามเหลี่ยม CLV มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอยู่สูง
เพราะมีธรรมชาติป่าเขา น้ำตก แม่น้ำ
สัตว์ป่าและพันธุ์พืชประจำถิ่นเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่ง ดังนั้น
เพื่อใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งสามประเทศ CLV ควรจัดหาสาธารณูปโภค เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา
เพื่อสร้างแรงดึงดูดแก่นักลงทุนให้เข้ามาลงทุนด้านการท่องเที่ยวและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนบริเวณสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนานี้
ขณะเดียวกันควรจะต้องมีการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว
โดยปกป้องคุ้มครองป่าดึกดำบรรพ์
พรรณไม้และสัตว์ประจำถิ่นของสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนาไม่ให้สูญหายไป
ด้านการเกษตรและการค้า
หลังจากก่อตั้งสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนาขึ้นมา
ได้มีบริษัทของเวียดนามเข้ามาลงทุนปลูกยางพาราในโอยาดา จังหวัดมณฑลคีรี
เพื่อเป็นสินค้าส่งออกยางพาราไปยังจีน (ซึ่งขยายตัวอุตสาหกรรมรถยนต์)
ความร่วมมือในการลงทุนเกษตรนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเวียดนามและกัมพูชา โดยเวียดนามเข้ามาขอสัมปทานพื้นที่ปลูกยางเป็นการขยายการผลิต
(ซึ่งที่ดินในเวียดนามมีไม่พอเพียงกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น)
ส่วนกัมพูชาจะได้ประโยชน์จากการส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร
การแบ่งปันพันธุ์ยางใหม่
ประการสำคัญที่สุดเกิดการจ้างงานคนกัมพูชาให้เกิดรายได้เลี้ยงครอบครัว
ซึ่งจะมีผลช่วยลดปัญหาความยากจนของประชาชนใน CLV
การสร้างตลาดค้าชายแดนที่โอยาดา
เป็นการช่วยขยายและเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนของกัมพูชาและเวียดนาม
ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในอันดับต้น ๆ
ของนโยบายรัฐบาลกัมพูชาและมีส่วนช่วยส่งเสริมอาชีพเพื่อลดปัญหาความยากจน
ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา
สิ่งที่จะใช้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์คือ การศึกษา และการสาธารณสุข
เพราะเป็นตัวบ่งชี้ในการลดปัญหาความยากจนของประชาชนในบริเวณสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา
ดังตัวอย่าง
ความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม
รัฐบาลเวียดนามได้สร้างหอพักนักศึกษาให้แก่นักศึกษากัมพูชาที่มหาวิทยาลัย Tay Nguyen และสร้างโรงเรียนระดับอาชีวศึกษาในจังหวัดรัตนคีรีและจังหวัดมณฑลคีรี
โดยเป็นเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า
จากวัตถุประสงค์การพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล
CLV ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายขอบซึ่งไม่เคยอยู่ในแผนพัฒนาแห่งชาติได้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น
รัฐบาล CLV ได้ให้คำมั่นสัญญาต่อกันที่จะร่วมมือส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
เพื่อจะเปลี่ยนสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนาจากพื้นที่ชายขอบให้เป็นศูนย์กลางของความเจริญเติบโตและความมั่งคั่งของประเทศ
CLV ทั้งสาม
ไทยกับโอกาสสร้างสัมพันธ์กับ
CLV
การรวมกลุ่มสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา CLV ย่อมเป็นที่ทราบเจตนารมณ์อยู่แล้วว่า
ต้องการรวมตัวเฉพาะ 3 ประเทศเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยและคนไทยควรสร้างความตระหนักรู้อย่างเท่าทันว่า CLV พยายามรวมกันทางเศรษฐกิจเพื่อพึ่งพากันเองในเบื้องต้น
และไม่ควรวิตกจนเกินไปว่าไทยจะถูกโดดเดี่ยวจาก CLV หรือการรวมตัวของ
CLV จะพัฒนาไปสู่ด้านการทหาร
เพราะยังมีกรอบของอาเซียนเป็นตัวบังคับอยู่ว่าในปี 2558
อาเซียนจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งไทยและ CLV ก็ล้วนแต่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกันทั้งนั้นจึงไม่มีการแบ่งแยกและคุกคามความมั่นคงประชาคมอาเซียน
แต่ในที่นี้ผู้เขียนขอเสนอให้ไทยคิดทบทวนความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับ
CLV และหาวิธีการใหม่เข้าไปสร้างสัมพันธ์กับ CLV
โดยเฉพาะในพื้นที่สามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา ดังนี้
ประการที่ 1
ทบทวนการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน จากที่เคยปฏิบัติมากับ CLV
คือ
ส่งสินค้าไปที่กรุงเวียงจันทน์และกรุงพนมเปญ และส่งผ่านไปยังนครโฮจิมินห์
ให้เปลี่ยนเป็นขยายการค้าชายแดนมุ่งเข้าไปยังสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา CLV โดยใช้เส้นทางถนนที่มีอยู่จากไทยเชื่อมโยงเข้าไปในลาว-กัมพูชา-เวียดนาม
อาทิ ขนส่งสินค้าจากไทยออกที่ช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี ออกไปยังแขวง
จำปาสักของลาว ต่อจากนั้นใช้ถนนหมายเลข 13 ไปออกชายแดนลาว-กัมพูชาเชื่อมเข้ากับถนนหมายเลข
7 ของกัมพูชาไปจังหวัดสตึงแตรง กระแจ๊ะ รัตนคีรี และมณฑลคีรี และยังสามารถใช้ถนนหมายเลข
78 เข้าถึงตลาดในโอยาดา จังหวัดมณฑลคีรี
ซึ่งจากโอยาดาสามารถขนส่งสินค้าผ่านแดนไปเวียดนามในจังหวัดยาลายได้
ไม่เพียงเท่านี้สามารถใช้ถนนหมายเลข 18B ในแขวงอัตตะปือขนส่งสินค้าไปยังเวียดนามได้อีกด้วย
ประการที่ 2
ในพื้นที่สามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา CLV ส่วนใหญ่ประชาชนยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม
และยังมีพื้นที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อีกมากที่รอการพัฒนาโดยเฉพาะการลงทุนด้านการเกษตร
ดังนั้น กลุ่ม CLV จึงต้องการเรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตรอีกมากเพื่อนำไปพัฒนา
เรื่องนี้ไทยมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีการเกษตรอยู่เหนือกว่า CLV ผู้เขียนจึงขอเสนอให้ไทยใช้ช่องทางนี้ในการสร้างสัมพันธ์กับ CLV โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนการเกษตรใน CLV เพื่อจะได้นำเทคโนโลยีการเกษตรไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรใน CLV ด้วยหวังจะได้เพิ่มพูนผลผลิตให้มากขึ้น
หรือไทยให้ความช่วยเหลือเทคโนโลยีการเกษตรในระดับรัฐต่อรัฐแก่ CLV สำหรับเชื่อมความสัมพันธ์
ความลงท้าย
บทความนี้อาจจะเป็นบทเรียนให้แก่ประเทศไทยและคนไทยไม่มากก็น้อยได้ตระหนักว่า
ไทยไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท อย่าคิดว่าไทยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า CLV
จนเป็นแหล่งงานที่ผู้คนจาก CLV พากันอพยพเข้ามาหางานทำ
แท้จริงแล้วไทยต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจาก CLV อยู่อีกมาก
และต้องการตลาดระบายสินค้าไทยใน CLV ซึ่งเป็นการพึ่งพาอาศัยกัน