เขียนโดย เทพ รุ่งธนาภิรมย์ เมื่อ พฤ, 26/03/2009 - 00:11
จากการเฝ้าติดตามดูผลประกอบการของบริษัทที่ได้ลงทุนไป ผมพบว่าบริษัทที่มี CEO ที่ดีและเก่ง มักจะมีความสำเร็จที่สูงกว่า
ผมจึงให้ความสำคัญกับการประเมินผลตัว CEO และได้พบกับแบบฟอร์มในการชั่งคุณภาพของCEOโดยคณะกรรมการบริษัท ซึ่งมีด้วยกัน 8 ข้อคือ
· การวางแผนกลยุทธ์
· ภาวะผู้นำ
· ผลลัพธ์ทางการเงิน
· การบริหารงาน
· การพัฒนาและการสืบทอด
· การดูแลคน
· การสื่อสาร
· ความสัมพันธ์กับคณะกรรมการ
ซึ่งเมื่อผมนำมาใช้ประเมินกับ CEO ที่ผมรู้จัก พบว่าคนที่เจ๋งจริงๆจะได้คะแนนเต็ม 5 เกือบทุกข้อ
ที่สำคัญคือคนเหล่านี้มีลักษณะโดดเด่นของผู้นำ
ผมจึงหันมาทำความเข้าใจกับเรื่องภาวะผู้นำ ที่เรียกกันว่า Leadership ให้มากขึ้น เพราะเริ่มคิดว่าภาวะผู้นำเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งของ CEO
สิ่งที่ยืนยันความคิดนี้มาจากลม เปลี่ยนทิศ เจ้าของคอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย ในไทยรัฐ
ชื่อ 'อยู่อย่างไทย ทำงานอย่างฝรั่ง' พูดถึงทางกลุ่ม ซีพี ได้ไปเชิญ ศ.เอนคาร์เนชั่น จาก ฮาร์วาร์ด
มาช่วยในการจัดตั้ง Leadership Center แต่ดูเหมือนเป้าหมายคือพัฒนาผู้นำในระดับต่างๆของเครือซีพี
ไม่ได้เน้นเฉพาะ CEO
ผมหวังว่า Centerนี้จะเปิดกว้างและเน้นการฝึกอบรมให้กับ CEO จากนอกเครือบ้าง เช่นเดียวกับที่เรามีIOD สำหรับอบรมกรรมการ และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยที่อบรมผู้ถือหุ้น
เพราะเมืองไทยยังต้องการ CEO ดีและเก่งมาเป็นแม่ทัพกันอีกมาก
จากการที่ได้ติดตามด้านการสร้างผู้นำ ผมได้ไปเจอหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ “สุดยอดผู้นำ”
จัดพิมพ์โดยซีเอ็ด แปลจาก “ The Handbook for Leaders” ของ McGrawhill เขียนโดย John H.Zenger. และJoseph Folkman ผู้แปลและเรียบเรียงคือ ดร.ฐิติพร ชมภูคำ
ผมรีบซื้อมาอ่านด้วยความสนใจ แล้วก็ไม่ผิดหวัง เพราะแนวคิดที่นำเสนอชัดเจนและง่ายมาก
ซึ่งผู้เขียนฟันธงเลยว่าใครๆก็สามารถกลายเป็นผู้นำที่เจ๋งได้ ด้วยหลักการ 5 ข้อเท่านั้น คือ
· ลักษณะนิสัย
· ความสามารถส่วนบุคคล
· การมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์
· ทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์
· การนำการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กร
ผมชอบใจมากครับ
ที่ได้แบ่งคุณสมบัติของผู้นำออกมาเป็น 5 เรื่องอย่างชัดแจ๋วแหว๋ว อ่านแล้ว นึกออกเลยว่า ผู้นำต้องมีและทำอะไรบ้าง!! ถือเป็นหนังสือดีที่ทุกคนควรมี
ขออนุญาตพูดถึงแต่ละหัวข้อแบบสั้นๆนะครับ
1. ลักษณะนิสัย
เรื่องนี้เป็นประเด็นหัวใจ คือ ผู้นำต้อง
· รักษาคำพูด
· ให้เกียรติคน
· เป็นคนเปิดเผย
· คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว
· มองคนแบบเชิงบวก
· มุ่งให้ความร่วมมือ
· ปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ
คนที่พูดอย่างทำอย่างไม่มีสิทธิได้คะแนนในข้อนี้ เซียนหุ้นบางคนบอกว่า ถ้าได้อ่านรายงานประจำปีย้อนกลับไปหลายๆปี จะพอดูออกว่า CEO ทำได้ตามที่สัญญาหรือไม่
2. ความสามารถส่วนบุคคล
ต้องเก่งและรู้เรื่อง
· ธุรกิจที่รับผิดชอบ
· สินค้าหรือบริการที่นำเสนอ
· การวิเคราะห์ปัญหาและการแก้ไข
· การนำเสนอ
· การนำเทคโนโลยี่มาใช้
ขอเสริมว่าต้องกล้าตัดสินใจอย่างมีความเชื่อมั่นด้วย เวลาฟัง CEO พูดในOpportunity Day แล้วพอดูออกว่าเก่งจริงหรือเก่งเทียม
3. มุ่งเน้นที่ผลลัพธ์
คือสามารถแปลงความคิดให้เป็นผลงานได้ด้วยการ
· สร้างเป้าหมายที่ท้าทาย
· สนับสนุนให้กลุ่มดำเนินการตามเป้า
· ให้คำแนะนำและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ตรงนี้ดูได้ง่ายจากตัวเลขผลประกอบการย้อนกลับไปหลายๆปี
ว่ามีแนวโน้มดีขึ้นหรือแย่ลง
4. ทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์
ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะผู้นำบางคนเก่งแต่เน้นที่ผลลัพธ์
แต่ไม่เก่งเรื่องคน ทำให้มีปัญหาในการสร้างทีมงาน ไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าเก่งงานและเก่งคนด้วย
สุดท้ายจะเป็นCEO ชั้นยอดแน่นอน ดังนั้น CEO จึงต้อง
· สื่อสารอย่างทั่วถึง
· กระตุ้นผู้อื่นให้มีผลงาน
· ทำให้คนอื่นไว้วางใจ
· พัฒนาคนอื่น
· ร่วมมือและพัฒนาทีมงาน
· ฝึกหัดทุกคนให้เป็นผู้นำ
CEO คือแม่ทัพ จะรบใหญ่ต้องมีผู้ช่วยแม่ทัพแจ๋วๆช่วยหลายคน
ถ้าแต่ละคนมีฝีมือและอยู่นานก็คงพอบอกได้ว่า CEO เก่งเรื่องคนหรือไม่
5. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์กร
ผู้นำที่ดีจะนำให้องค์กรมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
· สร้างวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล
· ทำให้วิสัยทัศน์เป็นเป้าหมายที่ชัดเจน
· ทำให้คนอยากร่วมมือร่วมใจในการเปลี่ยนแปลง
กลยุทธ์การรบต้องมีการพลิกแพลงไปตามสถานการณ์ CEO จึงต้องมียุทธศาสตร์ใหม่ๆ
ในการสร้างมูลค่าหุ้นโดยต้องศึกษาติดตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของลูกค้าตลาด เพื่อนำหน้าคู่แข่งขันได้อย่างทันเกม
ถ้า CEO มีคุณสมบัติส่วนใหญ่ตามที่กล่าวไว้ ก็ถือว่าสอบผ่านในฐานะผู้นำของกองทัพ(หุ้น)
ผู้ถือหุ้นก็สบายใจ นอนตาหลับได้
เพราะเมื่อเป็นผู้นำแบบในฝันแล้ว การทำผลงานดีๆให้ผู้ถือหุ้นก็ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
แต่ถ้าตรวจสอบแล้ว CEO คนไหนยังทำได้คะแนนน้อยอยู่ ต้องรีบปรับปรุงนะครับ
ไม่งั้น เดี๋ยวถูกสภาสงครามคือคณะกรรมการบริษัท สั่งปลดกลางอากาศ
จะหาว่าไม่เตือนไม่ได้นะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น