เทพ รุ่งธนาภิรมย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนหุ้นปันผลที่ประสบความสำเร็จมายาวนานเกือบ 30 ปี
3 นักวิเคราะห์ 1 เซียนหุ้นปันผล แนะวิธีหาหุ้นลงทุนหวังผลกำไรได้ทั้งระยะกลางและระยะยาว
เทพ รุ่งธนาภิรมย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนหุ้นปันผลที่ประสบความสำเร็จมายาวนานเกือบ 30 ปี เขาเป็นผู้เขียนหนังสือขายดี กลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ ที่โด่งดัง ห่านทองคำในความหมายของเทพ จริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงทรัพย์สินที่สามารถทำให้เกิดรายได้ที่ “สม่ำเสมอ” อย่างเช่น การฝากเงินกินดอกเบี้ย การลงทุนสร้างอพาร์ตเมนต์เก็บค่าเช่า ฯลฯ เพียงแต่สถานการณ์ปัจจุบันทำให้การลงทุนในทรัพย์สินประเภทอื่นไม่ให้ผลตอบแทนเท่าที่ควร
เทพ ยกวิธีการเลือกหุ้นที่จะลงทุนว่ายึดหลัก 3 ข้อตามแนวทางของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ คือ หนึ่ง. เป็นธุรกิจที่มีอนาคตและเข้าใจมัน สอง. ผู้บริหารมีคุณธรรมและมีฝีมือ และ สาม. ราคาต้องมีเหตุผล
สิ่งสำคัญบริษัทนั้น ต้องมี “แวลูครีเอชั่น” หรือคุณค่าในตัวเองต้องจำไว้เสมอว่าหุ้นไม่ใช่กระดาษที่ซื้อมาขายไปแต่ต้องมีสิ่งพิเศษอยู่ในตัวบริษัท ตัวอย่างเช่นสินค้าที่จำหน่ายเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ ถ้าต้องสำรองด้อยค่าสินทรัพย์เรื่อยๆ แบบนี้ไม่ดี ลูกหนี้การค้าเรียกเก็บได้หมดหรือไม่ ตรงนี้สามารถดูได้ที่รายงานประจำปี
สิ่งที่จะสร้างมูลค่าให้กับบริษัทได้อย่างมหาศาลคือทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนหรือ แบรนด์ ซึ่งเป็นค่าความนิยมทางเศรษฐกิจแม้จะลงในบัญชีไม่ได้แต่ทำให้บริษัทสามารถแข่งขันได้ระยะยาว
“ผมยังไม่ได้แตะราคาหุ้นเลยด้วยซ้ำอยากให้มาดูที่คุณภาพของบริษัทที่เราเป็นเจ้าของดีกว่า ราคาหุ้นเป็นสิ่งที่คนภายนอกมอง ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น”
เทพ ยกตัวอย่างหุ้น 5 ตัวหลักในพอร์ต (จริงๆ มีมากกว่านั้น) ถือมานานหลายปีและมีต้นทุนต่ำคือ น้ำมันพืชไทย (TVO) ล่ำสูง (LST) เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) และอินโดรามา โพลีเมอร์ส (IRP) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ทั้งหมดนี้ราคาหุ้นตกลงเกิน 60% ทั้งหมดในช่วงที่เกิดวิกฤติซับไพร์ม แต่สุดท้ายก็กลับมาได้ทั้งหมดและราคาหุ้นยังสูงกว่าเดิมอีกด้วย
ราคาหุ้น TVO ที่เขาซื้อมีต้นทุน 11 บาท ราคาตอนนี้ปรับขึ้นกว่า 200% หุ้น IVL มีต้นทุน 3.12 บาท ตอนนี้มีกำไรกว่า 600% สองบริษัทนี้เลือกลงทุนจากเหตุผลที่ว่า TVO มีสินทรัพย์ที่ดีคือตัวโรงงานและสินค้ามีแบรนด์ติดตลาด ส่วน IVL มี ROE ที่สูงมากและมีกระแสเงินสดที่ดี
“ตอนนั้นผมก็ใจหายเหมือนกันแต่นึกถึงบัฟเฟตต์ที่บอกว่าให้ถือหุ้น(ดี)ไปนานๆ เลยตั้งตัวกลับมาได้ เสียดายอย่างเดียวว่าตอนนั้นเงินสดมีไม่พอซื้อเพิ่ม เพราะหุ้น 5 ตัวดังกล่าวราคาต่ำกว่า Book Value หมดเลย”
กวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย แนะวิธีเลือกหุ้นลงทุนระยะยาวที่อาจจะต้องถือไปตลอดชีวิตมีหลัก 9 ข้อ
1. เลือกบริษัทที่ทำธุรกิจผูกขาดหรือมีมาร์เกตแชร์อันดับหนึ่ง
2. มีสถานะการเงินแข็งแกร่งมีหนี้สินน้อยมาก
3. กำไรต่อหุ้นหลายปีย้อนหลังนิ่งหรือเพิ่มขึ้นตลอด
4. ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ถ้าทำหลายอย่างจะโฟกัสยาก
5. มีผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงที่สุดในอุตสาหกรรม
6. มีอำนาจในการปรับราคาขายกับลูกค้าในระดับสูง ดูได้ที่อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ในระดับสูงคงที่
7. บริษัทที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนเยอะหรือเพิ่มทุนบ่อยๆ ในอนาคตแต่ยอดขายโตทุกปี
8. ผู้บริหารจะต้องมีความสามารถ และ
9. ผู้บริหารต้องมีธรรมาภิบาล
2. มีสถานะการเงินแข็งแกร่งมีหนี้สินน้อยมาก
3. กำไรต่อหุ้นหลายปีย้อนหลังนิ่งหรือเพิ่มขึ้นตลอด
4. ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ถ้าทำหลายอย่างจะโฟกัสยาก
5. มีผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงที่สุดในอุตสาหกรรม
6. มีอำนาจในการปรับราคาขายกับลูกค้าในระดับสูง ดูได้ที่อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ในระดับสูงคงที่
7. บริษัทที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนเยอะหรือเพิ่มทุนบ่อยๆ ในอนาคตแต่ยอดขายโตทุกปี
8. ผู้บริหารจะต้องมีความสามารถ และ
9. ผู้บริหารต้องมีธรรมาภิบาล
“สิ่งที่หุ้นห่านทองคำจะต้องมี คือ แบรนด์ที่แข็งแกร่งให้คนกลับมาซื้อหรือใช้บริการต่อเนื่อง แม้จะเกิดวิกฤติจะกลับมาได้เสมอ”
ที่สำคัญนักลงทุนควรหาหุ้นที่จ่ายปันผลดีๆ ติดพอร์ต หรือ หุ้น Super Dividend ตัวอย่างเช่น หุ้นมาม่า (TF) สมัยก่อนราคาเพียง 10 บาท จ่ายปันผลหุ้นละ 1 บาท หรือ ผลตอบแทน 10% ปัจจุบันราคา 1,150 บาท ปันผล 10 บาท แต่คิดเป็นผลตอบแทนแค่ 1% แบบนี้ถือว่าเราได้ผลตอบแทนเป็น 100% ในต้นทุนที่เท่าเดิม ถ้าถือโดยไม่ขาย รวมถึงหุ้นโรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) หุ้นฟาร์มเฮ้าส์ (PB) หุ้นซอสภูเขาทอง (SAUCE) หุ้นโรงแรมโอเรียลเต็ล (OHTL) ก็อยู่ในข่ายนี้ ถ้าเราเจอหุ้นที่คาดว่าจะเป็นแบบนี้ต้องถือยาวจนตลอดชีวิต
ด้านสองนักวิเคราะห์ชั้นนำ มองว่า จะหาหุ้นลงทุนหวังกำไรระยะกลางตอนนี้ อย่าดูที่ SET Index เพราะยังมีหุ้นหลายตัวที่แนวโน้มเติบโต แต่ราคาหุ้นยังไม่สนองตอบ แนะหุ้นบางตัว “หมดเวลา” ของมันไปแล้ว
วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการบริหารสายงานวิจัย บล.ทรีนีตี้ แนะนำหุ้นที่ควรลงทุนในภาวะปัจจุบันขอให้เป็นบริษัทที่สามารถผ่านวิกฤติเศรษฐกิจทั้งสองครั้งมาได้แสดงถึงความสามารถของผู้บริหาร ปัจจุบันมีอยู่ 15 บริษัท เช่น BBL KBANK SCC หรือหุ้นขนาดกลางอย่าง BGH ก็มีการเติบโตจากการซื้อกิจการ รวมถึง DCC ที่มีเงินสดเยอะ และมีมาร์เกตแชร์สูงถึง 60%
นอกจากนี้ ยังต้องมี ROE ในระดับสูง โดยปกติจะเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัย คือ หนึ่ง. ใช้หนี้สินมาต่อยอดกำไรหรือ Leverage แบบนี้ “อันตราย” สอง. มาจากกำไรสุทธิที่สูงก็ยังไม่แน่นอนเพราะอาจจะมาจากซื้อวัสดุต้นทุนต่ำมาขายก็ได้ ถ้าจะให้แข็งแกร่งและมั่นคงต้องแบบที่ สาม. เป็นบริษัทที่มีอัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ที่เร็ว หรือนำเงินไปต่อเงินได้ดี เช่น PS SCC และ AP
นอกจากนี้ ราคาต้องสมเหตุผลและมีโอกาสเติบโตในอนาคต อย่างหุ้น GLOW จะมีการเติบโตรวดเร็วในอีก 3 ปีข้างหน้าจากกำลังการผลิตที่สูงขึ้นและมีรายได้สม่ำเสมอรวมถึง Dividend Yield ก็อยู่ที่ 5-6% หุ้น ADVANC ก็กำลังเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ถ้ามี 3จี และค่าพี/อียังไม่สูงด้วย
ส่วนหุ้นที่ไม่ควรลงทุนและต้องระมัดระวังให้มากคือ “หุ้นตัวเล็ก” ที่ผลดำเนินการไม่ดี แต่ราคาขึ้นมาสูงแล้ว อย่างหุ้น TRUE แม้จะรับข่าวประมูล 3จี แต่ยังติดปัญหาหนี้สินที่เยอะอยู่รวมถึงต้องหาพันธมิตรมาช่วยประมูล 3จีและอาจจะต้องนำทรูมูฟเข้าตลาดหุ้น ดูแล้วปัจจัยลบเยอะกว่าข่าวดี
รวมถึงหุ้นตัวใหญ่ที่ราคาลงมาเยอะแต่ดูแล้วยัง Under Perform อย่างหุ้นโรงกลั่นและปิโตรเคมี เช่น PTTAR IRPC TOP ปีนี้ผลประกอบการไม่โดดเด่นถ้ายังไม่มีแนะว่า “อย่าเพิ่งเข้า” ดีกว่า
“หุ้นที่ขึ้นแบบไม่มีเหตุผลสุดท้ายเมื่อไม่มีข่าวดีมารองรับราคาหุ้นจะร่วงแน่นอนขอให้ระวังดีๆ”
พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส บล.ธนชาต ให้น้ำหนักไปที่หุ้นกลุ่มพลังงานขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่โรงกลั่นและปิโตรเคมี เช่น PTT PTTEP BANPU ที่ยังมีอัพไซด์เหลือให้ลงทุนได้ ส่วนหุ้น SCC จะถึงเวลา “เก็บเกี่ยว” ในปี 2554 และธุรกิจซีเมนต์รวมถึงกระดาษน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ราคาหุ้นตอนนี้ยังห่างจากราคาเป้าหมาย 340 บาทมากแถมปีหน้ามีลุ้นจ่ายปันผลมากขึ้นด้วย
ส่วนหุ้นธนาคารพาณิชย์ปีหน้าถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ ธนาคารที่มีพอร์ตสินเชื่อรายย่อยกับเอสเอ็มอีสัดส่วนที่สูงก็จะได้เปรียบ เช่น KBANK ส่วนหุ้น BAY ดูแล้วยัง Under Perform เทียบกับการตั้งสำรองที่เกือบครบแล้วและมีพอร์ตรายย่อยถึง 50% BBL ยังมีสภาพคล่องสูงแต่อาจจะมาช้าหน่อยเพราะสินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่น่าจะกลับมาในอีก 18 เดือน ส่วน TMB มองว่าถึงจุดเทิร์นอะราวด์จริง แต่ราคาตอนนี้คิดว่า “ไปเร็วเกินไป”
หุ้น AOT ก็ยัง Under Perform ส่วน THAI แม้จะขึ้นมาเยอะแต่ถ้าการท่องเที่ยวกลับมาก็จะฟื้นเร็วแถมต้นทุนดำเนินงานก็ลดลงอย่างมาก ส่วน PS และ LPN ยังมีอัพไซด์และมีสตอรี่เติบโตที่ดีต่อเนื่อง BANPU และ TUF ก็น่าสนใจเพราะไปซื้อกิจการในต่างประเทศรองรับการเติบโตในอนาคต
ส่วนหุ้นที่ไม่ควรลงทุนให้ดูเป็นรายกลุ่มอย่างกลุ่มค้าปลีก ยานยนต์ และเกษตร ตอนนี้วิ่งขึ้นไปเทรดที่ระดับสูงสุดแล้ว หุ้นกลุ่มที่ยังมีอัพไซด์เช่นพลังงานยังเทรดที่ค่ากลางอยู่ รวมถึงโรงพยาบาล สื่อสาร อสังหาริมทรัพย์ และขนส่ง พวกนี้ยังพอมีช่องทำกำไรได้แต่ขอให้เลือกเป็นรายตัวดีกว่า
…………………………………
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น